COLUMNISTS

ก้าวสู่ปีแห่งความท้าทาย

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
773

โลกเราทุกวันนี้ มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นได้ทุกวัน และสร้างความแปลกใจให้กับเราได้เสมอ ซึ่งหมายความได้ว่าความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้นมีมากขึ้น และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราได้คาดไว้ นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับบุคคล ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดหรือพฤติกรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต ที่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าส่งผลต่อความเป็นไปของโลกใบนี้ได้อย่างมากมายเกินกว่าที่เราทุกคนคาดไว้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคธุรกิจ การกำหนดกลยุทธ์ วางแผนดำเนินงาน จำเป็นต้องให้ความสำคัญและนำปัจจัยต่างๆ ที่มีแนวโน้มของความไม่แน่นอนมาเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ข้อมูล

เมื่อย้อนกลับไปดูตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่องค์กรทั้งหลายสามารถนำมาวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและนำไปเป็นข้อมูลเพื่อวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงต่อองค์กรของตนได้ ทั้งนี้ตัวอย่างที่น่าสนใจดังเช่นกรณีของอูเบอร์ (Uber)

เดือนมิถุนายน 2017 ทราวิส คาลานิค (Travis Kalanick) ซีอีโออูเบอร์ สตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก มูลค่าบริษัทกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ลาออกท่ามกลางกระแสกดดันรอบด้านซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ถือหุ้น โดยสาเหตุนั้นมาจากปัญหาต่างๆ รวมถึงความเชื่อมั่นที่เกี่ยวข้องกับกรณีการรั่วไหลของข้อมูลบัญชีสมาชิก การล่วงละเมิดทางเพศในหมู่พนักงาน คดีความที่กูเกิลฟ้องร้องอูเบอร์ขโมยลิขสิทธิ์รถไร้คนขับ และรวมถึงกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปคาลานิคทะเลาะกับคนขับอูเบอร์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเปิดเผยว่าได้มีการจ่ายค่าปิดปากแฮกเกอร์ให้ทำลายข้อมูลลูกค้าและคนขับรถของบริษัทที่ขโมยไปได้ 57 ล้านบัญชีทั่วโลก ในขณะที่ไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าและคนขับที่ถูกขโมยข้อมูลรับรู้ รวมทั้งไม่ได้รายงานต่อหน่วยงานรักษากฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งที่คาลานิคนั้นเป็นผู้ก่อตั้งอูเบอร์และนำพาบริษัทผ่านวิกฤติมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนอย่างหนักเพื่อการขยายตัวอย่างรวดเร็ว คู่แข่งที่เกิดขึ้นมากมายต่อเนื่อง รวมถึงการต่อสู้ด้านกฎหมายการขนส่งกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่อูเบอร์เข้าไปให้บริการ

เหตุการณ์สำคัญนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 กลุ่มแฮ็กเกอร์โจรกรรมข้อมูลผู้ขับอูเบอร์ 5 หมื่นราย หลังค้นพบรหัสผ่านเข้าระบบของอูเบอร์เผยแพร่อยู่ใน GitHub ผู้ให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต โดยผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ของอูเบอร์เอง ซึ่งมีการเปิดเผยภายหลังว่า ข้อมูลผู้ขับอูเบอร์ที่ถูกโจรกรรมอาจมากถึง 1 แสนราย ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการว่าจ้างบุคคลที่สามในการเก็บข้อมูลและแชร์โค้ดที่ใช้สำหรับเขียนโปรแกรม โดย Bloomberg ได้รายงานว่า บริษัทจำนวนมากว่าจ้างบุคคลที่สามที่ให้บริการระบบคลาวด์ ให้เข้ามาร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์ของผู้จ้าง รวมไปถึงช่วยเผยแพร่ซอฟต์แวร์ดังกล่าว ดังนั้นบริษัทบุคคลที่สามดังกล่าวจึงเป็นเป้าหมายของแฮ็กเกอร์ ที่สำคัญคือ ข้อมูลของอูเบอร์มิได้มีเพียงที่อยู่และข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลและประวัติการเดินทางของลูกค้าอย่างละเอียด ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการติดตามลูกค้าถึงบ้าน และข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูกค้าอีกด้วย

นี้คงเป็นตัวอย่างได้ดีถึงความเสี่ยงขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาข้อมูล การกำกับควบคุมการทำงานขององค์กรตนเอง และองค์กรผู้รับจ้างที่อาจมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นมืออาชีพเพียงพอในการร่วมปฏิบัติงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้บริการ ซึ่งกรณีนี้ อาจเป็นเพียงการสะท้อนความเสี่ยงหนึ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญ หน้าที่ของผู้บริหารคือการวิเคราะห์พิจารณาระบุความเสี่ยงต่างๆ และแนวทางการบริหารความเสี่ยงนั้นให้อยู่ในระดับที่องค์กรสามารถยอมรับได้ต่อไป

อะไรคือสภาพแวดล้อมภายนอกที่องค์กรจะต้องสนใจ

จากข้อมูลการวิจัยของ Economist Intelligence Unit (Risk 2018; planning for an unpredictable decade report) ที่สำรวจข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงกว่า 600 คนทั่วโลก สามารถสรุปปัจจัยเสี่ยงทั้งสภาพแวดล้อมและแนวโน้มที่สำคัญจำนวน 12 ประเด็น ซึ่งถูกพิจารณาว่าสามารถสร้างผลกระทบเชิงลบต่อองค์กรต่างๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การปกป้อง/กีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันที่ผันผวน การด้อยค่าลงของสินทรัพย์ การเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ การก่อการร้ายระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่มากเกินกว่าความคาดหมาย ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง คู่แข่งขันจากตลาดเกิดใหม่ การขาดบุคลากรที่มีความสามารถ ภาวะก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะที่เพิ่มสูงขึ้น แสดงได้ดังภาพประกอบ (The Long-range risk grid เป็นแผนภูมิความเสี่ยงที่บอกถึงมิติความรุนแรงของผลกระทบและมิติของการเตรียมความพร้อมขององค์กรต่อประเด็นความเสี่ยงต่างๆ)

978

ทั้งหมดนี้สามารถเป็นมุมมองความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมระดับมหภาค ที่องค์กรทั้งหลายรวมถึงภาคธุรกิจใช้พิจารณาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่อการเกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่องค์กรได้

องค์กรชั้นนำกำลังเฝ้าระวังความเสี่ยงอะไร

ข้อมูลงานวิจัยของ Protiviti Inc. & North Carolina State University-ERM Initiative ที่รวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัททั่วโลกกว่า 728 คน ถึงความเสี่ยงที่คาดว่าต้องเผชิญในปี 2018 ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมมหภาค ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ หรือความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ความเสี่ยงสูงสุดใน 5 ประเด็นที่องค์กรจะต้องเผชิญในปี 2018 นี้ได้แก่

หนึ่ง ความรวดเร็วของการเกิดขึ้นของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ (Rapid speed of disruptive innovation)

นวัตกรรมก้าวกระโดดหรือเทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและความอยู่รอดขององค์กร สิ่งที่สำคัญคือ องค์กรต่างๆ นั้นมีความยืดหยุ่นเปลี่ยนตามหรือสร้างความสอดคล้องได้มากน้อยเพียงใดต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการปรับตัวตามโมเดลธุรกิจที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปจากผลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านั้น

สอง แรงต่อต้านหรือข้อจำกัดต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน (Resistance to change)

เมื่อองค์กรต้องเปลี่ยน ข้อจำกัดต่างๆ จะเป็นเหตุผลของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงการทำงาน สิ่งนี้อาจฝังรากลึกไปสู่วัฒนธรรมขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องด้วยผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมๆ ที่มีช่วงระยะเวลาอายุของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Life cycle) นั้นยาวนาน ทั้งนี้อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านนั้นๆ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผลลัพธ์เชิงกลยุทธ์ที่องค์กรคาดหวังไว้

สาม ความสามารถในการจัดการกับภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต (Managing cyber threats)

ความปลอดภัยของการทำงานหรือธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญขึ้นตามปริมาณข้อมูลและธุรกรรมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลต่างๆ ที่ไม่ว่าจะเก็บไว้กับตัวองค์กรเอง หรือฝากเก็บข้อมูลกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญที่ให้เช่าพื้นที่ก็ตาม การออกแบบวางระบบการเข้าถึงข้อมูล การกำหนดสิทธิ์ รวมทั้งการควบคุมการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบุคคลหรือองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินที่มักเป็นเป้าหมายของอาชญากรและแฮกเกอร์

สี่ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและการตรวจสอบอย่างเข้มงวด (Regulatory change and heightened regulatory scrutiny)

การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะการควบคุมจากภาครัฐนั้นมักเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมือง ซึ่งหากมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ความไม่สอดคล้องกันทางนโยบายของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมทั้งแรงกดดันจากมาตรฐานสากลหรือแนวปฏิบัติที่ต่างประเทศยอมรับ ช่วงที่อยู่ระหว่างความไม่แน่นอนนี้ ย่อมยากลำบากต่อการจัดการของผู้บริหารองค์กร เนื่องด้วยการดำเนินการในทางใดทางหนึ่ง อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่งรวมถึงความล่าช้าในการจัดการด้วย

ห้า วัฒนธรรมองค์กรไม่สนับสนุนการระบุและให้ความสำคัญต่อประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญ (Culture may not encourage timely escalation of risk issues)

ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตือรือร้น เห็นพ้องต้องกัน ตระหนักต่อความเสี่ยงและภัยคุกคามต่างๆ พยายามค้นหาจุดวิกฤติที่เป็นความเสี่ยงร่วมกัน องค์กรที่ขาดแรงกระตุ้นดังกล่าวในกลุ่มคนส่วนใหญ่ในองค์กร หรือในกลุ่มผู้บริหาร ย่อมอาจทำให้องค์กรต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องใช้การแก้ไขปัญหามากกว่าการป้องกันปัญหา ซึ่งจะสูญเสียทรัพยากรมากกว่าที่ควร อันนำไปสู่ความยากลำบากทางการเงินและลดความสามารถในการแข่งขันในที่สุดได้

ความเสี่ยงทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าว เป็นความท้าทายของผู้บริหารองค์กรที่จะใช้ความสามารถในการวางแผนจัดการ เพื่อให้มีผลกระทบต่อองค์กรน้อยที่สุด ทั้งนี้อาจรวมไปถึงการเปลี่ยนประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวไปเป็นการสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันได้ หากมีกลยุทธ์ในการจัดการที่มีความแตกต่างและมีประสิทธิผลกว่าคู่แข่งขันอื่นในอุตสาหกรรม

ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจโลกในปี 2561 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ และการฟื้นตัวที่กระจายตัวมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาสินค้าขั้นปฐมและอัตราเงินเฟ้อในประเทศสำคัญๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศเศรษฐกิจหลักปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการปรับลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันกับภูมิภาคอื่น

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและเร่งขึ้นอย่างช้าๆ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกอย่างต่อเนื่องและการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน

ทั้งนี้สรุปข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตร สอง ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก และสาม ราคาสินค้าในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

“The entrepreneur always searches for change, responds to it, and exploits it as an opportunity.”
– Peter Drucker

แหล่งข้อมูล

  • Corporate year in review 2017, the Financial Times.
  • Executive Perspectives on Top Risks for 2018, Protiviti Inc. & North Carolina State University-ERM Initiative.
  • Risk 2018; Planning for an unpredictable decade, An Economist Intelligence Unit report.
  • NESDB Economic Report ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ปี 2560 และแนวโน้มปี 2560 – 2561 โดยสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ