Business

การรถไฟฯ ชงตั้ง ‘บริษัทบริหารทรัพย์สิน’ ปั๊มเงินจากที่ดิน 4 หมื่นไร่

การรถไฟฯ ชงตั้ง  “บริษัทบริหารทรัพย์สิน” คาดสำเร็จต้นปีหน้า ช่วยปั๊มเงินจากที่ดิน 4 หมื่นไร่ทั่วประเทศ จากปัจจุบันสร้างรายได้แค่ 1%

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยหลังเป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร โครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินการรถไฟฯ วันนี้ (11 ก.พ.) ว่า การรถไฟฯ เป็นผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่ดินที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ (Non-Core) ทั้งประเทศกว่า 39,419 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 300,000 ล้านบาท

แต่ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างการบริหารงานขององค์กรที่มีต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเชิงธุรกิจ ทั้งการขาดบุคลากร ข้อมูล และเทคโนโลยี ส่งผลให้มีผลตอบแทนจากการบริหารทรัพย์สินเหล่านี้มีเพียง 3,636 ล้านบาทต่อปี หรือไม่ถึง 1%

สุจิตต์
สุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย

ดังนั้น การรถไฟฯ จะจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน เพื่อพิจารณาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยเพิ่มรายได้ และแก้ปัญหาทางการเงินให้กับการรถไฟฯ ตามแนวทางแผนฟื้นฟู และสอดคล้องกับมติการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่เห็นชอบแผนการจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟฯ ขึ้น

การรถไฟฯ จะถือหุ้นในบริษัทลูกแห่งนี้ 100% ซึ่งขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 และสามารถจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินฯ ได้สำเร็จประมาณต้นปี 2563

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า 8

“การรถไฟฯ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน โดยมอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นที่ปรึกษาของโครงการฯ เพื่อเตรียมความพร้อมจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเอกสารการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รายละเอียดนโยบายการจัดการการบริหารทรัพย์สิน โครงสร้างการบริหารงาน โครงสร้างทางด้านบัญชีและการเงิน และวางแผนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ”  นายสุจิตต์ กล่าว

การจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินการรถไฟฯ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาหน่วยธุรกิจใหม่ที่เป็นกลไกในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้องค์กร และสามารถนำรายได้ไปแก้ไขปัญหาภาระบำเหน็จบำนาญ ปัญหากระแสเงินสด ปัญหาทางการเงิน และสามารถใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนในกิจการอื่นของการรถไฟฯ ต่อไปในอนาคต

Avatar photo