CEO INSIGHT

เปิดเส้นทางสู่ ‘เจ้าแห่งทุน’ : เจริญ สิริวัฒนภักดี ‘ปักหมุดเวียดนาม’

การรุกสู่ตลาดระดับภูมิภาคของ “ทีซีซี กรุ๊ป” เป็นการขยับโดยพร้อมเพรียงกันทั้งกลุ่ม ขณะที่ “ไทยเบฟ” ไล่ซื้อกิจการ “บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์”  หรือ “บีเจซี” เรือธงอีกลำในอาณาจักรธุรกิจของ “เจริญ”  ก็รุกตามไปในทิศทางเดียวกัน

Cap 2

บีเจซี เป็นบริษัทการค้าเก่าแก่ ก่อตั้งโดยชาวสวิส “อัลเบิร์ต ยุคเกอร์” และ “เฮนรี่ ซิกก์” เมื่อปี 2425 ขายตั้งแต่สบู่ ขวดแก้ว ยันอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัย

ในปี 2528 ทายาทผู้ก่อตั้งขายหุ้นให้ “กลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิก” ของ “หลิม ชู เหลียง” มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ก่อนที่ “เจริญ” จะซื้อหุ้นบีเจซียกล็อต 53.5 % ต่อจาก เฟิร์ส แปซิฟิก ในปี 2544 และตั้งโต๊ะรับซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อย จนรวบรวมหุ้นได้ 73.3 % และก่อนที่ “เจริญ” จะถอนบีเจซีจากตลาดหุ้นในปี 2560 กลุ่มทีซีซี ถือครองหุ้นถึง 99.85 %

ปี 2551 ที่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์กำลังเขย่าโลกนั้น บีเจซีเริ่มต้นปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเกมธุรกิจใหม่ จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเป็นทางการ ในปี 2559 และเป็นผลจากการปรับโครงสร้างในกลุ่มทีซีซีเองด้วย

ในเชิงบริหาร “อัศวิน เตชะเจริญกุล” (ลูกเขยคนเล็กของเจริญ) วัย 32 ปี ในขณะนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก่อนนั่งควบประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ในอีก 2 ปีต่อมา

ด้านการจัดการ โครงสร้างองค์กรมีการปรับเปลี่ยน แยกธุรกิจต่างประเทศออกมาเป็นหนึ่งในสายงานหลักเชิงยุทธ์ศาสตร์ ตั้งบริษัท “บีเจซี อินเตอร์เนชั่นแนล” ขึ้นมาเป็นหัวหอกในการรุกต่างประเทศ

aswin
อัศวิน เตชะเจริญกุล

โจทย์ที่ “เจริญ” มอบให้อัศวินคือ นำบีเจซีขึ้นสู่กิจการระดับภูมิภาค และดำเนินธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ หรือทั้งผลิตและขายควบคู่กัน เพื่อสนองต่อเป้าหมายใหม่

อัศวินวางแนวทางที่เขาเรียกว่า การสร้างสาธารณูปโภคทางการตลาด หรือ การสร้างเครือข่ายและฐานข้อมูล ขึ้นมา ก่อนนำบีเจซีไล่ซื้อกิจการในอาเซียนอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 2550 เพื่อปิดช่องว่างระหว่างห่วงโซ่ธุรกิจของกลุ่ม และเป็นฐานในการก้าวกระโดดขึ้นเป็นผู้นำจุดกระจายสินค้าในอาเซียน

ในปีเดียวกันนั้น ( 2551) บีเจซีซื้อบริษัท “เจซีฟูดส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี” ผู้ผลิตมันฝรั่งไวส์ ในมาเลเชีย นับเป็นบริษัทลำดับแรกๆ ที่บีเจซีซื้อตามยุทธศาสตร์มุ่งสู่กิจการระดับภูมิภาค

  • ปี 2553 ร่วมทุนกับ “บริษัทโอเว่น อิลลินอยส์” ผู้ผลิตแก้วรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้บีเจซีก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ปี 2555 ร่วมทุนใน  “บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน”  ก่อนจับมือกับ “บริษัทบอลล์ คอร์ปอเรชั่น” ผู้ผลิตกระป๋องอลูมิเนียมรายใหญ่ของโลก ตั้งโรงงาน “ทีบีซี-บอล เบเวอร์เรจ แคน เวียดนาม ลิมิเต็ด”
  • ปี 2554 ซื้อ “บริษัท เอเชีย บุ๊คส์” เครือข่ายร้านหนังสือชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย และปีเดียวกันนั้น เจริญนำบีเจซีโดดเข้าร่วมชิงประมูลซื้อโมเดิร์นเทรดสัญชาติฝรั่งเศส “คาร์ฟูร์” ก่อนที่ “บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” หรือ บิ๊กซี เป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนั้น

Cap11

  • ปี 2556 ปีที่ไทยเบฟปิดดีลเฟรเซอร์แอนด์นีฟนั้น บีเจซี รุกหนักในตลาดเวียดนาม ด้วยการขยายสู่ธุรกิจค้าปลีกแบบรอบด้าน ทั้งเปิดร้าน “โอเกนกิ” ขายยาและสินค้าสุขภาพ 8 สาขา เปิดร้านสะดวกซื้อ “B’s MART” ในเวียดนาม และเปิดร้านสะดวกซื้อ “M point” ในลาว รวม 90 สาขา
    ปีนั้น อัศวิน ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการ บีเจซี ประกาศต่อผู้ถือหุ้นอย่างภาคภูมิว่า บีเจซี ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตกระป๋องอลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์แก้วในอาเซียน แล้ว
  • ปี 2557 บีเจซีทำดีลใหญ่ ซื้อกิจการค้าส่งอันดับสองของเวียดนาม “Metro & Cash” บริษัทสัญชาติเยอรมัน ซึ่งมี 19 สาขา คลังสินค้า 2 แห่ง และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าอีก 2 แห่งมูลค่าราว 2.84 หมื่นล้านบาท ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “เอ็มเอ็ม เมกา มาร์เก็ต เวียดนาม”
    แต่ “เจริญ” มาพลาดซ้ำสองในการประมูลซื้อ “แม็คโคร” ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย บมจ.ซีพีออลล์ คว้าไปในปีเดียวกัน

ก่อนที่ “เจริญ” จะสมหวังในการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจค้าปลีก เมื่อบริษัทลูกบีเจซี สามารถปิดดีลซื้อหุ้นบิ๊กซี จาก กลุ่มคาสิโน สำเร็จ ด้วยมูลค่าราว 1.22 แสนล้านบาท ในปี 2559 นับเป็นกิจการที่มีมูลค่าสูงสุดเท่าที่บีเจซีเคยซื้อมา

ผลจากการซื้อบิ๊กซี ทำให้ยอดหนี้บีเจซีปีนั้น (2559) เพิ่มเป็น 189,986 ล้านบาท หรือเพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 693 % แต่กระนั้น “เจริญ” ยังไม่หยุดซื้อ

ปลายปี 2561 เขา ควักเงินอีก 3.2 พันล้านบาทซื้อ “บมจ.ไวท์กรุ๊ป” บริษัทค้าสินค้าอุตสาหกรรมเก่าแก่ของ “กลุ่มโอสถสภา” มาอยู่ใต้ร่มเงาบีเจซีเป็นรายล่าสุด

ภาพ: cafef.vn

การรุกด้วยซื้อกิจการของในรอบ 10 ปีเศษที่ผ่านมา ส่งผลให้บีเจซีขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีทรัพย์สินรวมมากกว่าสามแสนล้าน ไล่ตามหลังไทยเบฟมาติดๆ มีโครงข่ายการค้ากระจายอยู่ทั่วอินโดจีน โดยเฉพาะเวียดนามที่บีเจซีสามารถปักหมุด ก้าวขึ้นเป็นผู้นำจุดกระจายสินค้ามากกว่า 200,000 จุด

ความก้าวหน้าดังกล่าวบอกเป็นนัยว่า เป้าหมายของบีเจซีที่จะเป็นกิจการชั้นนำระดับภูมิภาคนั้น ใกล้เข้ามาแล้ว

Avatar photo