Economics

เร่งแผนเดิน ‘รถไฟไทย’ ด้วยระบบไฟฟ้า แก้ปัญหาควันพิษในสถานีกลางบางซื่อ

บอร์ดรถไฟเร่งแก้ปัญหามลภาวะใน “สถานีกลางบางซื่อ” สั่งเปลี่ยนหัวจักรถไฟระยะไกลเป็น  “เชื้อเพลิงไฟฟ้า” 

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้  (8 ก.พ.) คณะกรรมการ (บอร์ด) ได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหามลภาวะภายในสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากการรถไฟฯ ยังใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงของรถไฟทางไกล ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันภายในสถานีกลางที่เป็นห้องปรับอากาศในอนาคต

การรถไฟฯ จึงวางแผนจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้ามาทดแทน โดยจะจัดทำโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าในเส้นทางเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน จากนั้นจะจัดหาหัวรถจักรไฟฟ้า เพื่อนำมาสลับกับหัวรถจักรดีเซล ในช่วงที่รถไฟทางไกลเดินทางมาถึงตลิ่งชันหรือรังสิต และกำลังจะมุ่งหน้ามายังสถานีกลางบางซื่อ

“การติดตั้งระบบไฟฟ้าบนเส้นทางเดียวกับรถไฟสายสีแดงต้องใช้วงเงิน 1,700 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมวงเงินจัดซื้อหัวรถจักรไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมตัวเลขว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการรวมทั้งสิ้นเท่าไหร่ คาดว่าจะนำเสนอวงเงินงบประมาณรวมและเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาค พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า โดยจะต้องเร่งรัดดำเนินโครงการให้ได้ ก่อนสถานีกลางบางซื่อจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2564” นายสุจิตต์กล่าว

รถไฟ 1

นอกจากนี้ บอร์ดยังรับทราบผลการศึกษา โครงการเดินรถไฟทางไกลด้วยระบบไฟฟ้า แทนเชื้อเพลิงดีเซล จำนวน 4 เส้นทาง คือ

  1. ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี-ปากน้าโพ ระยะทาง 252 กิโลเมตร วงเงิน 28,720 ล้านบาท
  2. ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี-ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 243 กิเลเมตร วงเงิน 23,682 ล้านบาท
  3. ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางหนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 209 กิโลเมตร วงเงิน 33,572 ล้านบาท
  4. ชุมทางบางซื่อ-มักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-พัทยา ระยะทาง 160 กิโลเมตร วงเงิน 10,127 ล้านบาท

จากผลการศึกษาพบว่า เส้นทางที่มีความคุ้มค่าสูงสุด และจะมีการเร่งดำเนินการก่อนคือ ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี-ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางถนนจิระ

หลังจากนี้ การรถไฟฯ จะต้องกลับไปจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 และเปิดประมูลได้ประมาณปี 2564 จากนั้นจะเปิดให้บริการภายในปี 2566

Avatar photo