Business

เอกชนชง ‘EEC’ ยืดไทม์ไลน์ประมูล ‘สนามบินอู่ตะเภา’

เอกชนชงยืดไทม์ไลน์ประมูล “สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯ” 2 แสนล้านบาท อ้างมีรายละเอียดต้องพิจารณาจำนวนมาก ด้าน “EEC” เปิดช่องให้ “ทอท.” จับมือกับผู้ชนะการประมูลได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ก.พ. 62) พลเรือเอกโสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เป็นครั้งที่ 2 เพื่อชี้แจงข้อมูลความก้าวหน้าโครงการ กระบวนการดำเนินงาน เกณฑ์การประเมิน รวมทั้งเปิดเวทีให้ผู้ซื้อเอกสารจำนวน 42 รายได้ซักถามข้อสงสัย

โดยวันนี้มีนักลงทุนที่ซื้อเอกสารการคัดเลือกจำนวน 31 ราย, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), ผู้แทนกระทรวงคมนาคม, ผู้แทนกองทัพเรือ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมงานกว่า 100 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ นักลงทุนส่วนหนึ่งได้เสนอให้ขยายระยะเวลาการเปิดรับข้อเสนอจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ 30 เมษายน เนื่องจากต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดจำนวนมาก โดยบริษัทที่ปรึกษากล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไปหารือกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ และถ้าหากมีการเลื่อนกำหนดยื่นข้อเสนอ ก็จะเร่งประกาศให้รับทราบโดยเร็วที่สุด

ด้านสัดส่วนการถือหุ้นนั้น เบื้องต้นเงื่อนไขการประมูล (TOR) กำหนดให้เอกชนไม่สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นได้ ยกเว้นในกรณีที่เอกชนร่วมมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในภายหลัง แต่บริษัทที่ปรึกษาก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่า ทอท. จะสามารถเข้ามาถือหุ้นหรือเข้ามาสนับสนุนได้มากน้อยเพียงใด ส่วนเอกชนจะสามารถร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจอื่น ในลักษณะเดียวกับ ทอท. ได้หรือไม่นั้น ก็ต้องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาก่อน

 รับฟังความเห็น อู่ตะเภา2

“CP” สนร่วมประมูล ต่อยอดโปรเจ็คไฮสปีด

แหล่งข่าวจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) เปิดเผยว่า CP สนใจโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เพราะเกี่ยวเนื่องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่ CP ได้เข้าร่วมประมูลไปก่อนหน้านี้ ในแง่การส่งต่อผู้โดยสารระหว่างกัน

โดยขณะนี้กลุ่ม CP อยู่ระหว่างศึกษาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ในด้านเทคนิค ถ้าหากตัดสินใจจะเข้าร่วมประมูล ก็ต้องจับมือกับกลุ่มพันธมิตรที่มีประสบการณ์ด้านการบินด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าความยากของโครงการนี้อยู่ที่การออกแบบรายละเอียด ทั้งอาคารผู้โดยสารและแผนแม่บท (Master Plan) รวมถึงต้องจัดทำแผนธุรกิจไปพร้อมกัน

อู่ตะเภา2
ขอบคุณภาพจาก EEC

“อู่ตะเภา” ร่วมทุนนาน 50 ปี

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น เป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และรองรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์

การลงทุนจะเป็นรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) รัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธา งานวิ่ง (Runway) ที่ 2 และหอบังคับการบินหลังที่ 2 ส่วนเอกชนลงทุนส่วนสำคัญ คืออาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre: GTC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา (Cargo Village or Free Trade Zone: FTZ) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) เป็นต้น โดยกองทัพเรือให้ระยะเวลาเอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการได้เป็นระยะเวลา 50 ปี

Avatar photo