CEO INSIGHT

20 ปี ‘อนันดาฯ’ ความสำเร็จจากความบ้าเลือด!

เวลา 20 ปี บนถนนสายนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ของซีอีโอหนุ่มนักเรียนนอกทายาทตระกูล “เรืองกฤตยา” ผ่านไปอยางรวดเร็ว จากปี 2542 ถึงปัจจุบัน 2562 เป็น 2 ทศวรรษในการสร้างธุรกิจ ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคและวิกฤตเศรษฐกิจมากมาย ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติการเมืองในประเทศ มาได้ด้วยจุดยืนหลัก “พัฒนาคอนโดติดรถไฟฟ้า”

ชานนท์ เรืองกฤตยา3
นายชานนท์ เรืองกฤตยา

วันนี้ “โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทอนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจพัฒนาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า มีโครงการคอนโดติดรถไฟฟ้ามากที่สุดในตลาด

หากนับรวมจำนวนโครงการที่บมจ.อนันดาฯ พัฒนาทั้งสิ้น ซึ่งมีทั้งบ้านแนวราบหลายทำเลเป็นส่วนปลีกย่อย แต่ส่วนใหญ่เป็นคอนโดติดรถไฟฟ้า รวมกันมากกว่า 60 โครงการ สร้างที่อยู่อาศัยมาไม่น้อยกว่า 40,000 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านบาท อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในฐานะผู้บุกเบิกตลาดคอนโดมิเนียมคอนเซ็ปท์ใหม่ในประเทศไทย

ชานนท์ เล่าว่า ..“ความคลั่ง และบ้าเลือดของผม ในเรื่อง Location หรือทำเลที่ต้องติดสถานีรถไฟฟ้าน่าจะเป็นปัจจัยหลัก เพราะถ้าทำเลไม่เป๊ะไม่ซื้อ ผมคลั่งโมเดลนี้มาตลอด 20 ปีตั้งแต่รถไฟฟ้าเพิ่งให้บริการสายเดียว จนปัจจุบันเปิดแล้ว 87 สถานี”

ทำคอนโดให้ดีนั้นไม่ยากมีโนว์ฮาวมีเทคนิคใครก็ทำได้ แต่การจะได้เปรียบคู่แข่งทำเลต่างหากคือจุดแข็ง

ซีอีโออนันดาฯ ยังคงยึดมั่นในหลักคิดเดิม คือ “ทำเลติดรถไฟฟ้า” ยิ่งปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าขยายเส้นทางให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 2 สายเป็น 10 สาย และจำนวนสถานีก็จะเพิ่มขึ้น ยิ่งสถานีรถไฟฟ้าเปิดมากนั่นหมายความว่า อนันดาจะมีทำเลลงทุนที่มากขึ้นตาม ดูจากจำนวนสถานีรถไฟฟ้าใหม่ ดังนี้

  • ปี 2018 มี 87 สถานี
  • ปี 2024 มี 240 สถานี
  • ปี 2027 มี 316 สถานี

โครงการร่วมทุน2561 1

ความสำเร็จของอนันดาฯ ในฐานะผู้พัฒนาคอนโดติดรถไฟฟ้าวันนี้ ไม่ได้เดินเพียงลำพัง แต่ยังได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งจากญุี่ปุ่น มิตซูโดซัง (MITSUI FUDOSAN) เข้ามาร่วมทุนตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน 2562 มีโครงการคอนโดที่พัฒนาร่วมกันไปแล้วถึง 30 โครงการ มูลค่ารวม 1.28 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคอนโดเพื่อขาย 26 โครงการ และอีก 4 โครงการเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งจะเป็นทรัพย์สินระยะยาว ที่สร้างรายได้หมุนเวียน (Recurring Income) ให้บริษัท

นอกจากธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์แล้ว ชานนท์ ยังมองหาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่จะมาช่วยเสริมรายได้ธุรกิจหลัก นั่นคือธุรกิจด้านการให้บริการที่พักอาศัย Hospitality อย่างธุรกิจโรงแรม เริ่มด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ดสุิตธานี จำกัด(มหาชน) หรือ DTC จำนวน 42.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ชำระแล้ว ในราคาหุ้นละ 12 บาท มูลค่ารวม 510 ล้านบาท เพื่อการลงทนุระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลักกว่า 80% ยังเป็นการพัฒนาคอนโดมิเนียม ซึ่งมีทั้งโครงการที่ลงทุนด้วยตัวเอง และโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรหลัก มิตซุยฟูโดซัง รายใหญ่ด้านการพัฒนาอสังหาฯในประเทศญีปุ่น ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ทีมีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจในทิศทางเดียวกัน มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจพัฒนาอาคารสูงในเมืองใหญ่มายาวนาน

การเติบโตของบมจ.อนันดาฯ นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2009 (2552) ผ่านมา 10 ปีถึงปัจจุบันปี 2562 ขนาดธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้น 5 เท่า มูลค่าการพัฒนาโครงการต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นล้านบาท

เป้าเปิดตัวปี 2562 1

เป้าหมายของอนันดาฯในปี 2562 เตรียมเปิด 10 โครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 38,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 42% โดยในจำนวนนี้จะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 8 โครงการ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับมิตซุย ฟูโดซัง 7 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ ส่วนยอดขาย อนันดาฯตั้งเป้ายอดขายปี 2562 เพิ่มขึ้น14% มาอยู่ที่ 36,000 ล้านบาท จาก 31,500 ล้านบาท ในปี 2561 และตั้งเป้ายอดโอนเติบโต 9% จากปี 2561 มาอยู่ที่ 36,000 ล้านบาท โดยในปี 2562 คาดว่าจะมีคอนโดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มโอน 10 โครงการ

โดยโครงการไฮไลท์สำหรับปีนี้ ที่จะเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2562 คือ โครงการ “ไอดีโอ คิว พหล-สะพานควาย”  ซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานควาย (0 เมตร) พัฒนาบนที่ดินขนาด 5 ไร่ มีจำนวนห้องพักอาศัยทั้งหมด 1,114 ห้อง มูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 3 อาคาร อาคารเอ มีจำนวนห้อง 396 ห้อง อาคารบี มีจำนวนห้อง 287 ห้อง และอาคารซี มีจำนวนห้อง 431 ห้อง และมีร้านค้าปลีก 5 ร้าน จุดเด่นของโครงการ คือ ติดรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานควาย โดยมีคอนเซ็ปต์ในการพัฒนามาจาก Urban – Human – Nature (เมือง – คน -ธรรมชาติ)

อีกจุดแข็งที่สร้างการยอมรับ และสร้างความสำเร็จให้อนันดาฯ นอกจากความบ้าคลั่งเรื่องทำเล ที่ต้องติดสถานีรถไฟฟ้าแล้ว การพัฒนาที่เน้นตอบโจทย์คน Gen C หรือ Connectedness ที่ชื่นชอบการเชื่อมโยงดิจิทัล และมีชีวิตแบบดิจิทัลไลฟ์ ซึ่งอนันดาฯ นิยามให้เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญ ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจความสำเร็จของบริษัทที่ตอบโจทย์ลูกค้ามาโดยตลอด จากฐานสินค้ากว่า 40,000 ยูนิต คือบทพิสูจน์ความสำเร็จ

การสร้างทีมงานก็เช่นเดียวกัน ชานนท์ เล่าว่า นิยาม Gen C ไม่ได้เป็นเฉพาะลูกค้า แต่ยังรวมถึงพนักงานของบริษัทด้วย ปัจจุบันอนันดาฯมีพนักงาน 1,200 คน ทุกคนปรับตัวเข้ากับไลฟ์สไตล์ความเป็น Gen C ทั้งเรื่องการทำงาน และวิถีการใช้ชีวิต เป็น Connectedness เชื่อมโยงสังคมด้วยโลกดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสู่ความสำเร็จ การก้าวเดินที่ไปด้วยกันทั้งองค์กร ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการเป็นผู้พัฒนาคอนโดติดรถไฟฟ้า ที่ตอบโจทย์สังคมเมืองได้ตรงความต้องการ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนบางตอน ในแง่คิดของ ซีอีโออนันดาฯ จากวันที่เริ่มต้นธุรกิจท่ามกลางปัจจัยลบ วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่สร้างความปั่นป่วนให้หลายธุรกิจ แต่อนันดาฯก็สามารถฝ่าฟัน ข้ามอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ และยืนอยู่แถวหน้าคอนโดติดรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ผ่านมา 20 ปีในธุรกิจนี้ และอีก 20 ปีข้างหน้าก็จะคงยืนหยัดในธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยสโลแกน “BUILT TO LAST”

Avatar photo