Business

‘SCB’ ยึดโมเดล ‘ซิลิคอน วัลเลย์’ ปรับธนาคารสู่บริษัทเทคโนโลยี

“SCB” ยึดโมเดลการทำงานแบบซิลิคอน วัลเลย์ เปิดตัวคณะผู้จัดการใหญ่ สู้ศึกคู่แข่งใหม่  “ไลน์-กูเกิล” เชื่อสุดท้ายต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ทำธุรกิจธนาคาร

SCB5

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่มาแรงในช่วงเวลาแห่งยุคดิจิทัลนี้  บริษัทจำนวนมากกำลังเร่งปรับตัวเอง เพื่อไม่ให้กลายเป็นธุรกิจที่ตกยุค ไม่อินเทรนด์ ซึ่งอาจหมายถึง ความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และรู้ดีว่า แม้จะลงทุนไปมากเท่าไร แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในองค์กร การลงทุนที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีผลอะไรเลย

ด้วยเหตุนี้ SCB จึงเริ่มนำวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ที่เรียกว่า “Agile Organization” เข้ามาใช้ในปี 2562 เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานและโครงสร้างองค์กรทั้งหมดให้บรรลุคุณสมบัติหลัก 4 ด้านที่บริษัทตั้งเป้าไว้

คุณสมบัติหลัก 4 ด้าน

  • การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)
  • ความรวดเร็ว (Speed)
  • นวัตกรรม (Innovation)
  • วัฒนธรรมความเสี่ยง (Risk Culture)

ธนาคารยังเริ่มต้นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการตั้งคณะผู้จัดการใหญ่ 4 คน ประกอบด้วย สารัชต์ รัตนาภรณ์  อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์  อรพงศ์  เทียนเงิน และอารักษ์ สุธีวงศ์  โดยได้วางบทบาทให้ทั้งหมดทำงานร่วมกันในลักษณะ “Agile Team” เพื่อเป็นตัวอย่างและขับเคลื่อนวิธีการทำงานแบบใหม่ในลักษณะ Agile Organization เพื่อต่อยอดให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีที่สุด

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)  บอกว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา SCB ได้ลงทุนรากฐานขององค์กร และโครงสร้างพื้นฐานด้วยงบประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี แต่การลงทุนดังกล่าวจะไม่ออกดอกออกผลเลย หากธนาคารไม่ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร

การตั้งคณะผู้จัดการใหญ่ครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มช่วงที่ 2 ของ “SCB Transformation” เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลับหัวตีลังกา สู่เป้าหมายในการเป็น “ธนาคารที่ได้รับความชื่นชมมากสุด” หรือ “The Most Admired Bank”

SCB1

“ผมและคณะผู้จัดการใหญ่ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กร ผลักดันให้ธนาคารเติบโตผ่านกระบวนการ SCB Transformation ที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี 2563 เพื่อรับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมธนาคาร สร้างให้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นองค์กรแห่งอนาคต (The Future Bank) ที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”

ขณะที่ อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การทำงานแบบ Agile ยังไม่มีคำเรียกภาษาไทยที่ชัดเจน แต่คอนเซ็ปต์ของ Agile คือ Stand UP Meeting หรือใครมีประเด็นอะไร ก็เขียนใส่กระดาษและนำมาแปะไว้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหรือร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว จากนั้นก็เชิญผู้เกี่ยวข้องหรือทีมที่มีขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าวมาทำงานด้วยกันตั้งแต่วันแรก พอหารือเสร็จก็แยกย้ายไปทำงานต่อ

ตัวอย่างเช่น ถ้าจะต้องทำงานเรื่องหนึ่ง ก็เรียกผู้เกี่ยวข้องมาหารือเลย ไม่ใช่ประชุมหารือทีละแผนกแบบเดิม จากนั้นก็ให้ทำงานร่วมกันและให้อำนาจคนกลุ่มนี้มีอำนาจตัดสินใจ ให้ตกลงจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน แล้วไปจุดนี้โดยเร็วที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วการนั่งประชุมที่มีประสิทธิภาพหรือ ประสิทธิผลต่ำควรหายไปจากองค์กร

“เฟสที่ 1 เราจะเรียนรู้และร่วมทดลองก่อน ให้เราเข้าใจว่าอะไรที่ Work หลังจากนั้นจะเอาไปปรับในภาพใหญ่ ให้อำนาจคน ให้เขาตัดสินใจได้เลย แต่เราต้องทดลองให้มั่นใจก่อนนะว่า เราทำแบบนี้แล้ว เราเห็นประโยชน์จริง พอสิ้นปีก็จะรู้ว่าอะไรดีและเปลี่ยนองค์กรทั้งองค์กร”

การทำงานแบบ Agile Team มีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัทสปอติฟาย เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในซิลิคอน วัลเลย์  และปัจจุบันก็เป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

ในกลุ่มธนาคารก็มีประเทศออสเตรเลียที่เริ่มนำไปใช้ ซึ่งธนาคารที่นำไปใช้แล้วประสบความสำเร็จที่สุดคือ ธนาคาร ING สัญชาติเนเธอร์แลนด์ โดย ING ปรับตัวใช้โมเดลนี้ก่อนคนอื่น เพราะเห็นว่าถ้าทำธุรกิจธนาคารต่อไปก็จะไม่รอด ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัทเทคโนโลยีแทน

โดยจะเห็นได้ว่าคู่แข่งของธนาคารในอนาคต จะไม่ใช่ธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่จะเป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น กูเกิล ที่เริ่มปล่อยกู้ หรือ ไลน์ที่เพิ่มบริการทางการเงิน เพราะฉะนั้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Technology Platform Provider) ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกและมีข้อมูลในมือมากมาย จึงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว SCB จึงต้องปรับตัวและมุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

SCB2

“โมเดล Agile ผ่านการพิสูจน์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแล้วว่า ทำงานได้เร็วจริง เหตุผลที่เราเลือกโมเดลนี้ เพราะ SCB กำลังพิจารณาว่า ต่อไปเราจะเป็นธนาคารที่ใช้เทคโนโลยี หรือบริษัทเทคโนโลยีที่มาทำธุรกิจธนาคาร แต่ระยะยาวเราเชื่อว่า เราต้องผันตัวจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มาทำธนาคาร เราถึงเลือกที่จะไปทางนี้”

ทางด้าน สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์กลับหัวตีลังกาขององค์กร ตนตั้งใจผลักดันการเติบโต เพื่อมาทดแทนธุรกิจเดิม (New Normal of Growth)

ธุรกิจที่ 1 การปล่อยกู้ผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Lending) ที่จะต้องผลักดันให้ไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารที่สร้างประสบการณ์การขอสินเชื่อที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกรูปแบบ

ธุรกิจที่ 2 การบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management)  ซึ่งในไม่ช้าธนาคารจะมีขีดความสามารถให้บริการเรื่องการลงทุนในต่างประเทศ สำหรับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (Ultra-High Networth) ผ่านบริษัทร่วมทุนกับ Julius Baer

ในกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งทั้งหมดนั้น จะเร่งการพัฒนาความสามารถในการบริหารความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามความต้องการรายบุคคล

SCB4

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิมนั้น ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้สร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า

ส่วนตัวตั้งใจที่จะผลักดัน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

  1. Platform Banking ธนาคารต้องปรับรูปแบบการให้บริการเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หรือในธุรกิจของลูกค้า
  2. Partnership Banking การทำงานร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า และเติบโตไปพร้อมกัน
  3. Predictive Banking การนำดาต้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างถ่องแท้ และทันต่อความต้องการ

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการผลักดันภารกิจ SCB Transformation ให้สมบูรณ์ก็คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่เปลี่ยนวิถีการทำงาน  เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการทำงานให้พนักงานมีความกล้าที่จะเรียนรู้ให้เร็ว (learn faster) กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ และลองผิดลองถูกให้เร็ว (fail faster) แก้ไขและปรับปรุงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการให้อำนาจในการตัดสินใจ และมี Risk Culture ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วอย่างมาก

ตัวเขาจะเป็นผู้เร่งกระบวนการภายใน วิธีการทำงาน และการปลูกฝังวิธีคิดที่จะนำธนาคารไปสู่องค์กรแห่ง The New Normal of Customer Excellence

นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2562 ธนาคารจะบรรลุเป้าหมายปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ 10,000 ล้านบาท เพราะมีการเติบโตสูงและปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางนี้ 5,000 ล้านบาทแล้ว

SCB3

Avatar photo