Economics

ปลุกขวัญพนักงานรถไฟ ขู่ไม่ปรับตัวหนี้ท่วม  2 แสนล้าน

ยกเคส  “เจแปน แอร์ไลน์” ปลุกขวัญ “พนักงานรถไฟ” ร่วมใจพัฒนาองค์กร ขู่ไม่ปรับตัวหนี้ท่วม  2 แสนล้านบาทในปี 66 ด้าน  “กุลิศ” หารือ ปตท. ยกระดับ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ เทียบชั้นกำเนิดวิทย์

การรถไฟฯ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวภายในงาน ‘Change to the Future’  ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตใหม่รถไฟไทย ที่จัดขึ้นในวันนี้ (7 ก.พ.)ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. มีตัวเลขขาดทุนพุ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย เนื่องจากมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ทั้งรถโดยสารระหว่างจังหวัด (รถทัวร์) รถตู้โดยสารสาธารณะ และสายการบินราคาประหยัด ซึ่งมีค่าโดยสารถูกกว่า และรวดเร็วกว่ารถไฟ

ถ้าร.ฟ.ท. ไม่ปรับตัว ก็จะกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลัง ที่สุดแล้วก็อาจถูกโอนให้ผู้ประกอบการรายอื่นดำเนินการแทน และพนักงานก็อาจตกงานได้ ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นในองค์กรระดับโลก เช่น โกดัก หรือโนเกีย ที่เคยยิ่งใหญ่และเป็นเจ้าตลาด แต่สุดท้ายกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยและแพ้คู่แข่ง เพราะไม่ยอมปรับตัว

“ในปี 2562 คาดว่า การรถไฟฯ จะมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 21,845 ล้านบาท และมีหนี้สินสะสมอยู่ 141,986 ล้านบาท ถ้าหากองค์กรยังคงทำงานแบบเดิมต่อไป ก็คาดว่าในปี 2566 การรถไฟฯ จะมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 25,646 ล้านบาทและหนี้สินสะสมเพิ่มเป็น 199,279 ล้านบาท”

รถไฟ5

ตั้งเป้าอีบิทดาเลิกติดลบปี 66

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน รัฐบาลลงทุนในระบบรางเป็นจำนวนมหาศาล แต่ละโครงการมีมูลค่านับแสนล้านบาท ส่งผลให้เส้นทางของรถไฟไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เกิดการพัฒนามากกว่าช่วง 68 ปีที่ผ่านมารวมกันด้วยซ้ำ  ซึ่งในขณะนี้ ร.ฟ.ท. มีเส้นทางเป็นระยะ 4,044 กิโลเมตร แต่ในปี 2566 จะมีเส้นทางเพิ่มขึ้นเป็น 4,370 กิโลเมตร และจะขยายเป็น 5,367 กิโลเมตรในปี 2572

ในอนาคต เมื่อรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ ร.ฟ.ท. ก็จะมีศักยภาพเพิ่มขึ้น สามารถทำความเร็ว และมีความปลอดภัย แข่งกับกลุ่มรถตู้ และรถทัวร์ได้ ฝ่ายบริหารจึงเห็นว่า ควรหันมาเจาะตลาดเส้นทางระยะกลางมากขึ้น เช่น กรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-ชุมพร, กรุงเทพฯ-พิษณุโลก จากปัจจุบันจะเน้นแต่เส้นทางระยะไกล เพราะการรถไฟฯ ยังไม่เคยเจาะตลาดนี้ ทั้งที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพ

ขณะเดียวกันก็จะปรับการเดินรถใหม่ ด้วยการลดต้นทุน หรือยกเลิกเส้นทางที่ขาดทุน หรืออาจจะปรับเปลี่ยนช่วงเวลา รวมถึงจะหารายได้เพิ่มจากการพัฒนาที่ดิน เช่น บริเวณสถานีกลางบางซื่อ  สถานีแม่น้ำ และที่ดินมักกะสัน

เป้าหมายคือร.ฟ.ท.จะต้องมีกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา หรือ อีบิทดา พลิกจากติดลบ เป็น 0 ภายในปี 2566

S 20078624
วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

เปลี่ยนความคิดช่วยสร้างกำไร 

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การลงทุนของภาครัฐในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ร.ฟ.ท. ได้ปรับตัว และพัฒนาองค์กร โดยขอยกตัวอย่างกรณีสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ที่สามารถพลิกฟื้นจากภาวะล้มละลายด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดของพนักงาน และสร้างความร่วมมือภายในองค์กร เริ่มจากการอบรมเพื่อเปลี่ยนกระบวนการคิดของผู้บริหารระดับสูง 50 คน เป็นเวลา 1 เดือน จนเจแปนแอร์ไลน์สามารถพลิกฟื้นเป็นองค์กรที่มีกำไร และศักยภาพขึ้นมาได้

ดังนั้น จึงขอให้พนักงานทุกกลุ่ม เช่น ซ่อมบำรุง ฝ่ายบัญชี ร่วมกันคิดใหม่ ทำงานแบบใหม่ รวมถึงช่วยกันคิดและวางแผนว่า จะทำงานและบริหารโอกาสที่ได้รับอย่างไรเพื่อให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า เพราะถ้าร่วมกันวางแผนวันนี้ยังทัน แต่ถ้าปล่อยให้โครงการเสร็จแล้ว ค่อยมาวางแผน ก็จะไม่ทันการณ์ได้

ถก ปตท. ยกระดับ ‘โรงเรียนรถไฟ’

ทางด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. อยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 ตามวิสัยทัศน์ของแผนฟื้นฟูกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะ 10 ปี พ.ศ.2561-2570  ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง

โครงการหลักที่เป็นอนาคตของการรถไฟฯ ในตอนนี้ คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โดยเฉพาะสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน), โครงการพัฒนาสถานีแม่น้ำ, โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและศูนย์คมนาคมหพลโยธิน ซึ่งจะต้องกำชับให้ 2 โครงการหลังเปิดให้บริการได้ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ตามแผนงาน

ร.ฟ.ท. ตั้งเป้าจะเปิดรับพนักงานเพิ่มอีก 1,904 คนในปีนี้ และวางแผนจะพัฒนาบุคคลากรให้ที่ยิ่งขึ้น ปัจจุบันการรถไฟฯ มีโรงเรียนศวกรรมรถไฟ ที่ผลิตนักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อยู่แล้ว แต่ในอนาคตจะเพิ่มความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับมากขึ้น เช่น พัฒนาเป็นสถาบันวิทยาการ เหมือนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ

“โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็น Training ของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ซึ่งเราก็อยากจะทำแบบนั้นบ้าง จึงได้หารือกับ ปตท. แล้ว เพื่อผลักดันการผลิตบุคลากรชั้นยอดของรถไฟ” นายกุลิศกล่าว

โรงเรียนรถไฟ
นักเรียนโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

Avatar photo