Economics

ย้อนรอย!! จากปาก ‘ชัยวัฒน์’ กว่าจะฝ่าขวากหนามสู่ก้าวแห่งอนาคต ‘ไอแบงก์’

เป็นที่ปรีดาของเหล่าผู้ที่ทุ่มเทสรรพกำลังให้กับการทำงานจนผลักดันธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ทำให้ธนาคารแห่งนี้ยืนหยัดเป็นที่พึ่งพาให้กับคนไทยต่อไป

PNPOL610330001001701

หลายปีก่อนที่กลุ่มสาขาอาชีพต่างๆที่มีฝีมือ รวมตัวกันด้วยเป้าหมาย ทำให้ธนาคารอิสลามอยู่รอดได้ และมั่นคง บรรดานายแบงก์ นักกฎหมาย นักบัญชี และผู้ที่มีความตั้งใจอีกไม่น้อยรวมกันประมาณ 10 คน มาระดมสมองและทุ่มเทเวลาให้ กับการทำแผนฟื้นฟูกิจการตลอดมากกว่า 3 ปี

3 เป้าหมายที่ถูกวางไว้ ก็คือแก้ปัญหาหนี้ให้ได้ ทำให้ธนาคารยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ดูแลพี่น้องมุสลิมต่อไป และหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

สัดส่วนหนี้มีปัญหาถึง 50%

ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมือแก้ปัญหาแบงก์ได้รับการทาบทามให้มาเป็นหัวเรือใหญ่ในการแก้ปัญหาธนาคารอิสลาม ในฐานะประธานกรรมการธนาคาร  เขาเล่าประสบการณ์เมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากได้รับทาบทามให้เข้ามาทำ “งานหิน” อีกงาน

“ธนาคารอิสลามในตอนนั้น เป็นเคสที่ไม่ธรรมดา เพราะสินเชื่อดีในแบงก์แต่ละแห่ง น่าจะมากกว่า 80% หากเป็นแบงก์ฝรั่ง 95% แต่ที่ธนาคารอิสลามพบว่า 50% เป็นสินเชื่อมีปัญหาอีก 30% เคยมีปัญหา และพยายามแก้ไขอยู่”  

ชัยวัฒน์ 88 1
ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์

นอกจากนี้ พนักงาน 2,300 คน ซึ่งเชี่ยวชาญงานธนาคารไม่มาก และการจัดโครงสร้างองค์กร เพื่ออำนวยสินเชื่อก็เป็นไปอย่างไม่มีการควบคุมภายในที่ดี เป็นที่มาของความเสียหาย รวมถึงเทคโนโลยีมีข้อจำกัด เพราะจ้างเอกชนภายนอกทำจึงปรับปรุงอะไรได้ยาก ไม่สามารถทำผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใหม่ตามหลักชารีอะห์ได้เลย

ตอนนั้นคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ ซูเปอร์บอร์ดส่งคณะอนุกรรมการมาประเมินธนาคารอิสลาม พอเห็นพอร์ตแล้ว บอกว่า “คงต้องปิดแบงก์” ชัยวัฒน์ เล่าต่อว่า เพราะต้องใช้เงินในการแก้ไขฟื้นฟูจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นเงินจากรัฐ  หากใส่แล้วยังไม่สามารถหยุดความเสียหายได้ ก็จะเสียหายมากขึ้นไปอีก

แต่สุดท้าย รัฐบาลเห็นความสำคัญของธนาคารแห่งนี้ เพราะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ต้องดูแลพี่น้องมุสลิม จึงให้หาทางแก้ไข และรักษาสถาบันการเงินแห่งนี้ไว้

ชัยวัฒน์ บอกว่า ตอนนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ให้ทิศทางในการแก้ปัญหาธนาคารอิสลาม ว่า ให้แก้ไขสินเชื่อ โดยแยกสินเชื่อไม่ดี ที่ไม่ได้เกิดจากพี่น้องมุสลิม ไปตั้งไอแอม หรือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Asset Management : IAM) มาบริหารจัดการ และหาพันธมิตรธุรกิจ

โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษา 2 บริษัททำงานคู่กันไป ซึ่งพันธมิตรสนใจ แต่ประเด็นคือ เงินกองทุนของธนาคารติดลบ ทำให้สถาบันการเงินใหม่ไม่สามารถใส่เงินเข้าไปได้ ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการล้างขาดทุนก่อน พร้อมกับวางเงื่อนไขกติกาให้ชัดเจนว่าพันธมิตรจะสามารถถือหุ้นได้กี่เปอร์เซนต์

เริ่มต้นการทำงานของคณะกรรมการธนาคาร โดยขอความช่วยเหลือ และสนับสนุนจากผู้นำศาสนาอิสลาม รวมถึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ขณะเดียวกันซูเปอร์บอร์ดก็สนับสนุนอย่างเต็มที่

“เราก็แยกสินเชื่อด้อยคุณภาพ และไม่ได้เกิดจากพี่น้องมุสลิมออกไป ประมาณกว่า  50,000 ล้านบาท ไปยังไอแอม  ถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง เหลือแต่สินเชื่อปกติในปัจจุบัน หรือสินเชื่อที่เคยเป็นหนี้เสียแต่แก้แล้ว ตามมาด้วยขั้นตอนการลดทุน และเพิ่มทุน”

อุปสรรคเพิ่มต้องแก้กฎหมายก่อน

วางกติกาชัดเจนอย่างนี้น่าจะราบรื่น แต่ก็มีอุปสรรคจนได้ ชัยวัฒน์ เล่าว่า การเพิ่มทุนนั้น จะเอาใครมาเพิ่มก็คงไม่ได้ ต้องให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน แต่ติดกฎหมายจัดตั้งธนาคารอิสลามกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% แต่หากเพิ่มทุนครั้งนี้ กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในธนาคารถึง 99 % ซึ่งผิดกฎหมายทันที จึงต้องไปผ่านขั้นตอนแก้กฎหมายก่อน

จนเมื่อปลายปี 2559  แก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นได้เกิน 49 % ตามความจำเป็นในเวลาที่เหมาะสม หรือชั่วคราวนั่นเอง หากดีขึ้นแล้วกระทรวงการคลังก็ต้องถอนหุ้นออก

ต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 16,100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนให้กับธนาคารอิสลาม  เมื่อรวมกับการเพิ่มทุนจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกระทรวงการคลังอีก 2,000 ล้านบาท รวมเป็น 18,100 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในธนาคารอิสลามอยู่ที่ 99.71% รวมแล้วใช้เวลา 3 ปีครึ่งในการแก้ปัญหาจนเสร็จสรรพ

ชัยวัฒน์ สารภาพว่า ตลอดทางของการทำแผนฟื้นฟูธนาคารอิสลาม ต้องฝ่ามรสุมมาพอสมควร

“มีคนแซะให้ผมออกจากการทำงานนี้เป็นสิบครั้ง” 

เพราะอะไรน่ะหรือ

ชัยวัฒน์ เฉลยว่า ต้องย้อนดูต้นเหตุที่ธนาคารอิสลามเป็นอย่างนี้ ก็เพราะมีกระบวนการปล่อยสินเชื่อที่มีปัญหา

เอาคนผิดลงโทษปมถูกแซะ

ซูเปอร์บอร์ด มีนโยบายให้นำคนผิดมาลงโทษ จึงเป็นที่มาให้มีการส่งชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ทำให้หลายคนอาจไม่พอใจ

เขาบอกว่า ส่งรายชื่อผู้เกี่ยวข้องไปรวม 42 ราย และทยอยเพิ่มจนเป็น 50 รายตามมา “แต่จนบัดนี้ 3 ปีผ่านไป ดำเนินคดีไปแค่ 1 รายเท่านั้น ที่มีการสอบสวนเอาผิด” ส่วนการเอาผิดจากผู้ขอสินเชื่อ ก็ต้องฟ้องทางแพ่งต่อไป

ไอแบงก์3 1

สำหรับพฤติกรรมการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ ชัยวัฒน์ เล่าว่า เป็นการลักษณะการอนุมัติสินเชื่อแบบผิดปกติ และผิดระเบียบ เช่น ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลักประกันไม่ถูกต้อง หลักประกันประเมินสูงเกินไป โดยมีแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ เช่น โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรม ที่เสียหายมากที่สุด ราว 2,400 ล้านบาท จากที่มูลค่าความเสียหายทั้งหมด 20,000 ล้านบาท

“จริงๆ ผมเป็นนายธนาคาร เป็นผู้มาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ดีเอสไอ ไม่เชี่ยวชาญการสอบสวน เมื่อส่งรายชื่อผู้กระทำผิดไปยังปปช. และปปท. ที่เหลือจากนี้ก็ต้องว่าไปตามขั้นตอนของ 2 หน่วยงานนั้น แต่ซูเปอร์บอร์ดก็ไล่ถามผมทุกครั้งที่เข้าประชุมถึงความก้าวหน้าในการนำคนผิดมาลงโทษ แต่จนถึงวันนี้เกือบ 4 ปีแล้ว มีรายเดียวถูกสอบ และมีมูล จากทั้งหมด 50 รายที่ส่งไปปปช. และปปท.”

เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แก้ปัญหาธนาคารเป็นหลัก ตลอดทางที่ผ่านมา เขาจึงเดินหน้าในงานแก้ปัญหามากกว่าไปมุ่งตามกระบวนการหาคนผิด และความตั้งใจของเขา และทีมงาน ก็ทำให้ธนาคารอิสลามดีขึ้นตามลำดับ หลังการเพิ่มทุนก็ทำให้ธนาคารอิสลามกลับมามีกำไรได้ โดยกำไรปี 2561 อยู่ที่กว่า 600 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับผลประกอบการในอดีต ที่ขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ขาดทุน 9,545 ล้านบาท ปี 2558 ที่ 4,644 ล้านบาท ปี 2559 ที่ 3,524 ล้านบาท และปี 2560 ที่ 2,926 ล้านบาท

กว่าจะผ่านกระบวนการแก้ปัญหามาได้ไม่ง่าย ชัยวัฒน์ จึงอยากฝากไปถึงผู้บริหารธนาคารอิสลามในตอนนี้ และอนาคต ให้บริหารจัดการให้ดี และต้องนำเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  ตามโลกให้ทัน ต้องเป็น“โมบาย แบงก์กิ้ง”

ที่สำคัญหลังจากนี้ ต้องระมัดระวังการให้สินเชื่อ ได้มีการวางกลไกการควบคุมดูแลไว้แล้วทั้งหมด

“หากไม่มีใครไปทำให้บิดเบี้ยวอีก ธนาคารอิสลามแห่งนี้ก็จะเดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาว” 

Product Program Process  เป็นหัวใจในการทำงานของธนาคารจากนี้ ซึ่งหมายถึงต้องมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ดี กระบวนการให้สินเชื่อมีการสอบทาน และผู้อนุมัติได้อนุมัติสินเชื่ออย่างเหมาะสม “หนี้เสียเกิดได้อีก หากโชคไม่ดี หรือตั้งใจโกงกันอีก”

ชัยวัฒน์ ย้ำ เพราะเคสนี้ “ผู้บริหารระดับสูงหลายคน ตั้งใจทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นจำนวนปริมาณเงินสูง และวางกลไกที่บิดเบี้ยว เพื่อให้ทำงานได้ ทำให้กลไกตามระบบที่ควรจะเป็นถูกบิดเบือน เช่น การสอบยันการให้สินเชื่อไม่มี และรับทราบมาว่า ผู้บริหารในอดีตได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองในอดีตหลายครั้งหลายครา”

ชัยวัฒน์1
ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์

เมื่อทุกอย่างผ่านมาแล้ว รายชื่อคนทำผิดก็อยู่ในมือปปช. และปปท.แล้ว หน้าที่ของเขาถือว่าเสร็จสมบูรณ์ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือ และรักษาสถาบันการเงินแห่งนี้ ให้บริหารตามหลักชาลีอะห์อย่างสมบูรณ์แห่งเดียวให้ดำรงอยู่ เป็นสถาบันการเงินที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องมุสลิม และถือเป็นการรักษาสมบัติของชาติด้วย “ไม่ถูกกินรวบ”

“หากปล่อยไปตามยถากรรม คงต้องเหมือนสถาบันการเงินหลายๆ แห่งที่ตกไปเป็นของต่างชาติ แต่หากวันหนึ่งธนาคารอิสลามบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นตามลำดับ เมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม ก็สามารถดึงพันธมิตรต่างชาติดีๆ มาร่วมถือหุ้นบางส่วน ไม่ต้องกินรวบ เพื่อพัฒนาสถาบันการเงิน และสร้างเครือข่ายให้ธนาคาร “โกอินเตอร์” ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต”

3 H คือ Hand Head Heart หมายถึงทำด้วยตัวเอง ด้วยสมองและหัวใจที่มุ่งมั่น บนหลักการที่ยึดความถูกต้องมาก่อน แต่หากถูกใจด้วย ถูกต้องด้วย ก็ยิ่งดี แต่ถูกใจอย่างเดียวไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำ กดดันมาก ก็ “ลาออก” นี่คือคาถาป้องกัน ที่ทำให้ ชัยวัฒน์ เป็นหัวหอกในการแก้ปัญหาธนาคารอิสลามจนสำเร็จลุล่วง

“สำคัญ คือ อย่ากลับไปเน่าอย่างเดิม ฝากผู้บริหารที่ยังทำงานด้วยกันตั้งแต่ช่วงฟื้นฟูกิจการให้สานต่อเรื่องราวดีๆ ของธนาคารอิสลาม ให้ช่วยทำให้ธนาคารเจริญก้าวหน้า” ชัยวัฒน์ ทิ้งท้าย

ธนาคารอิสลามวันนี้เน้นรายย่อย

วิสุทธิ์ บริบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจรายย่อย บอกว่า ธนาคารต้องเดินหน้าปล่อยสินเชื่อต่อไป โดยเน้นลูกค้ารายย่อย ทั้งให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบาย และยึดตามข้อกำหนด คือ ให้สินเชื่อสูงสุดได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทสำหรับลูกค้ารายเก่า ส่วนรายใหม่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ทางด้านรัฐวิสาหกิจให้สินเชื่อได้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

ไอแบงก์2
วิสุทธิ์ บริบูรณ์

โดยตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 12,000 ล้านบาท แม้ปัจจุบันจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังติดลบ ต้องทำกำไรขั้นต้น 1,000 ล้านบาท BIS จึงจะเป็นบวก และหลักการ BIS ต้องไม่ต่ำกว่า 8.5 % แต่ปัจจุบันยังติดลบ 1-2% ถือเป็นการบ้านหนักของผู้บริหารธนาคารอิสลามในตอนนี้

ขณะเดียวกันก็ต้องไล่ตามโลกให้ทันด้วย ด้วยการเร่งทำ โมบาย แบงก์กิ้ง โดยเน้นพัฒนาบุคลากรให้บริหารจัดการเอง แทนที่จะจ้างบริษัทเอกชนภายนอกให้มาทำทั้งหมดเหมือนในอดีต ที่สำคัญต้องเน้นความปลอดภัย

“อาจยากที่จะทันแบงก์อื่นที่ลงทุน โมบาย แบงก์ฺ์กิ้ง ไปก่อนแล้ว แต่อย่างน้อยเขามี เรามี และเราลงทุนมากไม่ได้ คาดว่าในไตรมาส 3 ของปีนี้น่าจะแล้วเสร็จ สำคัญเราต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย “

และนับจากนี้วิสุทธิ์ ในฐานะเป็นอีกคนในทีมที่ต้องรับไม้ต่อให้สัญญาว่า จะดูแลการใช้เงินให้เหมาะสม และบริหารจัดการโดยควบคุมภายในที่ดี  ไม่ใช่มีกำไรแล้วจะลงทุนอะไรก็ได้ และต้องให้สินเชื่ออย่างรอบคอบ “ผมจะนึกถึงอดีตเข้าไว้”

ขณะที่อีกหัวเรือใหญ่ที่ร่วมทำแผนฟื้นฟูธนาคารมากับ ชัยวัฒน์ และทีมนั่นคือ  นิพนธ์ ฮะกีมี กรรมการ และรักษาการประธานกรรมการธนาคาร  เสริมถึงการนำคนผิดมาลงโทษว่า รายชื่อผู้เกี่ยวข้องอยู่ที่ปปช. และปปท.แล้ว เป็นการส่งรายชื่อเบื้องต้น ไม่ได้หมายถึงทุกคนทำผิด และส่วนใหญ่ยังไม่ได้ชี้มูล มี 4-5 รายที่ชี้มูลแล้วเท่านั้น

ibang
นิพนธ์ ฮะกีมี

“เราทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นขั้นตอนของปปช. และปปท.แล้ว ยกเว้นขอข้อเท็จจริงอะไรมา เราก็จะส่งให้ แต่จริงแล้ว เราต้องการให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องหลุดออกมา และมาทำงานต่อ ไม่อยากให้มีการเสียขวัญกำลังใจ ” 

นิพนธ์ บอกถึงแผนการทำงานในระยะสั้นๆ นี้ว่า จะลงใต้เร็วๆนี้ เพื่อไปพบปะลูกค้า ซึ่งกิจการที่ธนาคารอิสลามสนใจจะปล่อยสินเชื่อก็คือ กิจการ “ฮาลาล” จะเป็นหรือไม่เป็นพี่น้องมุสลิมก็ได้ โดยตอนนี้มี 1 รายที่เป็นลูกค้าของธนาคารที่จังหวัดสุพรรณบุรี

“เราได้เพิ่มทุนมา 18,000 ล้านบาท ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับก้าวแรก ขณะเดียวกันก็ล้างหนี้เสียไปด้วย ซึ่งไปตั้งไอแอมมาแล้ว  ส่วนพันธมิตรร่วมทุน ตอนนี้ไม่ต้องแสวงหาเต็มที่แล้ว  รอโอกาสเหมาะสม ไม่ต้องวิ่งไปหาเหมือนในอดีต เพราะเรามีอำนาจต่อรอง” 

ทีมงานแก้ปัญหาธนาคารอิสลาม จบทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะ หลังพูดคุยเรื่องราวในอดีต ในวันที่ต้องเคร่งเครียดกับการแก้ปัญหาธนาคาร และการฝ่าฟันขวากหนามมาด้วยกันจนประสบผลสำเร็จ ทำให้ธนาคารเดินต่อไปได้ เหลือเพียงการส่งไม้ต่อความต้้งใจให้ธนาคารก้าวเดินอย่างมั่นคงยั่งยืน

Avatar photo