General

ระวังควันธูป!! เหตุ ‘พระ-ลูกวัด’ เสี่ยงมะเร็งปอด

นักวิชาการออกมาย้ำให้ระวังการจุดควันธูป เพราะเป็นสาเหตุของฝุ่นขนาด PM 10 ชี้สูดดมระยะยาวเกิดโรค “มะเร็งปอด” ผลกระทบแรงไม่แตกต่างควันรถยนต์ หรือควันบุหรี่ ผลวิจัยตรวจพบ “วัด-ศาลเจ้า” พื้นที่เสี่ยงสุด พระ-เด็กวัดอยู่ประจำ มีสารก่อมะเร็งในเลือดสูงกว่าปกติ แนะ 4 วิธีลดผลกระทบ เน้นจุดธูปในที่อากาศถ่ายเทสะดวก และใช้ผ้าปิดจมูกทุกครั้ง

แม้ว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เริ่มคลี่คลายลง แต่ใครจะรู้บ้างว่า ความเสี่ยงจากการสูดดมฝุ่นพิษรอบๆ ตัวยังคงอยู่ โดยเฉพาะ “ควันธูป” ที่จุดในบ้าน หรือ สถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งอาจทำลายสุขภาพประชาชนโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนที่ต้องสัมผันเป็นประจำทั้งพระและลูกวัด

ผศ.ดร.อารุญ เกตุสาคร 2 1 1
อารุญ เกตุสาคร

ผศ.ดร.อารุญ เกตุสาคร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการเก็บความเข้มข้นในอากาศ 36 ตัวอย่างในวัดและศาลเจ้าหลายแห่งในช่วง 2-3 เดือน 2 ช่วงเวลา ระหว่าง 9.00-12.00 น. และ 13.00 -16.00 น. เพื่อตรวจอุณหภูมิ ความชื่้น และความเข้มข้นจากควันธูป สรุปพบว่าเผาไหม้ของควันธูป ทำให้เกิดอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM 10

ประกอบกับในธูป พบสารก่อมะเร็งมากถึง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อสูดดมเข้าไป ควันจะลงสู่ระบบทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยผู้ได้รับสัมผัสเป็นเวลานานๆ จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด

images48 e1549510554110

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุ เป็นระยะเวลาที่ชัดเจนว่า ต้องได้รับสัมผัสเป็นระยะเวลานานเท่าใด แต่จากการวิจัยโดยทั่วไป ต้องมีระยะเวลานานติดต่อกันเป็น 10 ปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ประกอบด้วย เช่น พันธุกรรม หรือ ระบบการระบายอากาศในสถานที่จุดธูป ถ้าระบบถ่ายเทไม่ดี ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

“การจุดธูปจะทำให้เกิดควัน และมลพิษในอากาศ ซึ่งสารที่อยู่ในควันธูปนั้น เป็นพิษต่อสารพันธุกรรม และสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งในมนุษย์ เช่นเดียวกับที่พบในควันท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ หรือ ควันจากกิจกรรมในอาคาร เช่น การใช้เชื้อเพลิงจุดอาหาร ยากันยุง”

สถานที่เสี่ยงได้รับควันธูปจำนวนมาก ก็ได้แก่ วัด และศาลเจ้า ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของกรมควบคุมโรคก่อนหน้านี้ พบว่าคนทำงานในวัด ทั้งพระและลูกวัด มีสารก่อมะเร็งในเลือดสูงกว่าทั่วไป 4 เท่า อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกสถานที่ๆ จุดธูปเป็นประจำ จะเกิดผลลัพท์ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ การระบายอากาศ ล้วนส่งผลกระทบต่อการรับสัมผัสเพิ่มสูงขึ้น

ผศ.ดร.อารุญ กล่าวอีกว่า ยังมีอาชีพเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น ตำรวจจราจร เด็กนักเรียนในเมืองใหญ่ๆ ที่ต้องเดินทางไปเรียนด้วยตนเอง ในกรุงเทพมหานคร และกลุ่มที่มีความเปราะบางทางสุขภาพ เช่น เด็ก คนชรา และผู้ที่จุดธูป เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านโดยไม่มีอากาศถ่ายเท เป็นต้น

ฝุ่น 1 e1549510628328

สำหรับคำแนะนำดูแลตนเอง 4 ประการ ให้กับผู้ที่ต้องอยู่ในบริเวณที่มีการจุดธูป ประกอบด้วย  

1.รณรงค์ให้ลดการจุดธูป หรือจุดธูปบริเวณที่โล่ง ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือใช้ธูปขนาดสั้น เพื่อให้เกิดควันระยะสั้นหรือใช้ธูปไฟฟ้า

2.ถ้าหลีกเลี่ยงการจุดธูปไม่ได้ ให้จัดให้มีการระบายอากาศในทิศทางเดียว (One Directional Air Flow) และให้อยู่เหนือทิศทางลม เพื่อลดการรับสัมผัสสาร

3.ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง หรือใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาด ๆ ปิดปากปิดจมูก

4.ภายหลังการสัมผัสควันธูปควรล้างมือ ล้างหน้า ล้างตา ให้สะอาด

“กลุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากควันธูป ที่ต้องดูแล ได้แก่ เด็ก คนชรา และบุคคลที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เพราะบุคคลเหล่านี้ มีกลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายไม่เหมือนปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการผิดปกติได้มากกว่าในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี” ผศ.ดร.อารุญ กล่าว

 

Avatar photo