CEO INSIGHT

จาก‘อินโฟกราฟฟิก’สู่อะคาเดมี…ทำเรื่องยากให้ง่าย!

ในยุคสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียบูม! ผู้คนอยู่ในภาวะข้อมูล “ล้น” จากคอนเทนท์และข่าวสารที่มาจากทุกทิศทุกทาง ทั้งการขยายตัวของสื่อสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล และการสร้างเนื้อหาบนโลกออนไลน์ของคนทั่วไป ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์คอนเทนท์ที่น่าสนใจ!

ธนโชติ วิสุทธิสมาน กรรมการผู้จัดการบริหาร Infographic Thailand ผู้ก่อตั้งบริษัท Like Me จำกัด เล่าว่าช่วง 5 ปีก่อนที่เริ่มต้นทำคอนเทนท์ “อินโฟกราฟฟิก” เรียกว่าเป็นยุคที่โซเชียลมีเดีย เติบโตสูง ทำให้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้นมหาศาล

พบว่าช่วง  5 ปีก่อน ใน 1 วัน คนเราต้องรับข้อมูลที่เปรียบเทียบได้กับหนังสือพิมพ์ 140 ฉบับต่อวัน ขณะที่สมองคนเราจำได้เพียง “1%” เท่านั้น

ส่งผลให้ข้อมูลประเภทกราฟฟิก ได้รับความสนใจ! และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์คอนเทนท์สื่อของ  Infographic Thailand ปัจจุบันมีผู้ติดตามเฟซบุ๊กเพจเกือบ 4 แสนราย

อินโฟกราฟฟิก ไทยแลนด์
ธนโชติ วิสุทธิสมาน

 เริ่มจากแอพ..สู่อินโฟกราฟฟิก       

ธนโชติ บอกว่าจุดเริ่มต้นของ Infographic Thailand ไม่ได้มาจากกการทำงานอินโฟกราฟฟิก  โดยขณะที่ยังศึกษาที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หลักสูตรอินเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เริ่มมีประสบการณ์ทำโปรเจคซอฟต์แวร์ ที่จุดประกายก้าวสู่การทำงานด้านอินโฟกราฟฟิกอย่างจริงจัง

ก่อนเรียนจบได้เข้าร่วมแข่งขัน Software Business Plan Contest และชนะรางวัลทำให้มีความมั่นใจในการทำงานด้านนี้เพิ่มขึ้น หลังจากเรียนจบจึงชวนเพื่อนๆ มาร่วมทำงานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น ตั้งแต่อยู่ปีที่ 4 โดยนำเงินรางวัลที่ได้มาเช่าหอพักอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนาโปรเจค 1 ปี  ก่อนเรียนจบ และ 1 ปีหลังเรียนจบ

อินโฟกราฟฟิก ไทยแลนด์
ภาพเฟซบุ๊ก Infographic Thailand

ในจังหวะที่ AIS จัดงานแข่งขัน AIS The StartUp ครั้งแรก ช่วงปลายปี 2554  “ทีมงาน” ได้ร่วมแข่งขันและเป็นหนึ่งในทีมที่ได้รับรางวัล จากนั้นนำรางวัลไประดมทุนก้อนแรก เพื่อเปิดบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่น Like Me ในปี 2556 จากนั้นเริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่น รวบรวมโปรโมชั่นทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและสมาชิกบัตรต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคใช้งาน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค เมื่อเดินทางไปถึงจุดต่าง ๆ จะได้เสนอโปรโมชั่นให้กับผู้ถือบัตร เพื่อไม่ให้พลาดรับสิทธิประโยชน์  แอพดังกล่าวลงทุนไปกว่า 1 ล้านบาท  โดยใช้วิธีการทำการตลาดด้วย “อินโฟกราฟฟิก” ผ่านเฟซบุ๊คเพจ  Like Me Thailand  พบว่าอินโฟกราฟฟิกที่นำเสนอได้รับความสนใจจากผู้เสพข้อมูล

ทางเลือกในขณะนั้นจึงต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าพัฒนาแอพต่อ หรือมุ่งไปที่การทำอินโฟกราฟฟิก ช่วงแรกจึงคุยกับทีมงานว่าจะทำอินโฟกราฟฟิกสักพัก หลังจากนั้นหากมีเวลาจะกลับไปทำแอพต่อ แต่สุดท้ายทีมเลือกเดินทางมาในเส้นทาง “อินโฟกราฟฟิค” เต็มรูปแบบ ด้วยการสร้างสรรค์สื่อ Infographic Thailand

“อินโฟกราฟฟิก”ดึงความสนใจยุคข้อมูลล้น

ช่วง 5 ปีก่อนเป็นยุคที่คนทำโซเชียล มีเดีย ยังมีคอนเทนท์ไม่มาก  ช่วงนั้นเฟซบุ๊คเพจต่างๆ มักแชร์รูปสัตว์เลี้ยงน่ารัก เช่น รูปสุนัข แมว ขณะที่ “อินโฟกราฟฟิก ไทยแลนด์” เป็นเพจแรกๆ ในประเทศไทยที่ทำ อินโฟกราฟฟิกทุกวัน และคอนเทนท์จำนวนมาก ทำให้ได้รับความสนใจแชร์ข้อมูล อินโฟกราฟฟิค ไทยแลนด์ หรือนำข้อมูลอินโฟกราฟฟิกไปติดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น เคล็ดลับการดูแลสุขภาพดี,  การจัดโต๊ะทำงานฮวงจุ้ยดี

ช่วงที่มีเลือกตั้ง ได้ทำอินโฟกราฟฟิก การเลือกตั้ง ที่สร้างกระแสความสนใจได้อย่างมาก จากนั้นเริ่มมีลูกค้าติดต่อเข้ามาเพื่อให้ทำอินโฟกราฟฟิก และต่อเนื่องมากถึงปัจจุบัน ที่มีลูกค้าเป็นบริษัทองค์กรใหญ่ๆ หลายราย ให้ทำงานด้านอินโฟกราฟฟิก ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว VR และ  AR

อินโฟกราฟฟิก ไทยแลนด์
ภาพเฟซบุ๊ก Infographic Thailand

สิ่งที่อินโฟกราฟฟิก ให้ความสำคัญ  ไม่ใช่เพียงการทำภาพ แต่เป็นการ “ย่อยข้อมูล” ให้เข้าใจง่าย จากใช้ภาพกราฟฟิก  เพราะปัจจุบันผู้เสพสื่อต้องรับคอนเทนท์จากโซเชียล มีเดีย 285 ชิ้นต่อวัน นอกจากนี้ยังรับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ อีกมากมาย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

การทำงานของ อินโฟกราฟฟิก ไทยแลนด์ คือการนำข้อมูลเอกสาร ที่น่าสนใจ ที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย กฎระเบียบต่าง รวมทั้งข้อมูลทั่วไปที่มีรายละเอียดจำนวนมาก มาย่อยให้เข้าใจง่าย เพื่อให้เป็นข้อมูลความรู้กับผู้เสพสื่อ

เช่นเดียวกับการทำงานให้ลูกค้า องค์กรต่างๆ เมื่อได้โจทย์จากจะนำข้อมูลมาแปลงเป็น “ภาพ” เพื่อลดเวลาการทำความเข้าใจข้อมูลหลายชั่วโมงให้เข้าใจง่ายในเวลาไม่กี่นาที …และ “นี่ถือเป็นงานของเรา!!”

รูปแบบการการนำเสนอข้อมูลปัจจุบัน มีทั้ง อินโฟกราฟฟิก , วีอาร์ 360 องศา , 3D รวมทั้งรูปแบบโมชั่นกราฟฟิก  ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างความน่าสนใจ

 เดินหน้าปั้น “อะคาเดมี”

หลังจากทำอินโฟกราฟฟิกได้  2 ปี  เป็นยุคที่ พันทิป เริ่มแชร์ข้อมูลเรื่องบริหารการเงิน ขณะที่ลูกค้าที่ทำอินโฟกราฟฟิก มีกลุ่มธนาคารจำนวนมาก ซึ่งปกติ “การเงิน”ถือเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและเข้าใจยาก  เมื่อนำข้อมูลมาทำเป็นอินโฟกราฟฟิกกลับได้รับความสนใจดีมาก และมีการแชร์ข้อมูลต่อจำนวนมาก

ธนโชติ บอกว่าจากความสนใจเรื่องการเงินของผู้เสพสื่อ จึงรวบรวมกูรูการเงินมาทำเว็บไซต์และเฟซบุ๊กเพจ aomMONEY  โดยบรรดากูรู การเงินจะเขียนเรื่องการเงินการลงทุนแบบที่เข้าใจง่าย พร้อมทำอินโฟกราฟฟิกประกอบ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีตั้งแต่เปิดตัวที่มีผู้อ่าน 7-8 แสนคนต่อเดือน และเติบโตมาต่อเนื่องปัจจุบันมีคนอ่านไปแล้ว 14 ล้านคน

อินโฟกราฟฟิก ไทยแลนด์
ภาพเฟซบุ๊ก Nextempire

ในปี 2560 ได้เปิดเว็บน้องใหม่ Nextempire ซึ่งเป็นไปตามวิชั่นของทีมงาน ที่ต้องการทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย!  ปัจจุบันคนกำลังประสบปัญหาเรื่อง “ธุรกิจปรับตัวไม่ทันกับโลกดิจิทัล” จึงพัฒนาสื่อดังกล่าวเพื่อให้การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงาน

ปัจจุบัน Like Me มี “สื่อหลัก” ที่ดำเนินการอยู่ 3 คอนเทนท์ คือ Infographic Thailand, aomMONEY , Nextempire  ที่เป็น 3 แบรนด์คอนเทนท์  โดยรายได้แต่ละแบรนด์อยู่ที่โฆษณา  แต่จะมุ่งเพิ่มรายได้ในส่วนอื่นๆ  เช่น จัดสัมมนา คอร์สอบรมทักษะความรู้ด้านการทำอินโฟกราฟฟิก การเงิน ด้านดิจิทัล

โดย  aomMONEY มีสื่อออนไลน์ รวมทั้งนิตยสารที่ให้ความรู้เรื่องการเงิน ซึ่งจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการเงิน จึงจัดคอร์สอบอบรม ที่เริ่มตั้งแต่ทักษะขั้นพื้นฐาน ด้วยรูปแบบอะคาเดมี

อินโฟกราฟฟิก ไทยแลนด์
ภาพเฟซบุ๊ก aomMONEY

ส่วน Nextempire ได้พูดคุยกับกับพันธมิตร ที่จะทำ Data Scientist  Academy การเปิดโรงเรียนสร้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มีแผนจะเปิดอคาเดมี 4-5 รูปแบบ ในเรื่องที่น่าสนใจ และเหมาะกับสิ่งที่คนต้องเรียนรู้ในยุคนี้

“สิ่งที่เราโฟกัส คือการทำเรื่องยากให้เข้าใจง่าย  และคอนเทนท์ที่ให้เราให้ความสำคัญ คือ สมาร์ท คอนเทนท์ ที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น”

ดังนั้นสิ่งที่จะทำ คือ การนำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้คน มาย่อยให้เข้าใจง่าย, เข้าถึงคนในวงกว้าง และให้ความสนใจในการเสพคอนเทนท์  ในอนาคตจะพัฒนาต่อเนื่องในเรื่อง VR  และ AR นำเสนอเทคโนโลยีที่เข้าใจง่าย

ธนโชติ วิสุทธิสมาน ร่วมนำเสนอมุมมองการสร้างสรรค์สื่อในงาน “MCOT INNO 2018”  ช่วงสัมมนา The Startups Talk #ต่อยอดความสำเร็จด้วยวิถี Startup

Avatar photo