Economics

กนอ.ฟุ้งอีอีซีดันนักลงทุนแห่ซื้อที่ดินไตรมาสแรกกว่า700ไร่

ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่าจากการที่รัฐบาลเปิดการประมูลในโครงสร้างพื้นฐานหลักใน 5 โครงการ ทั้ง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1โครงการท่าเรือแหลมฉบับระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศอู่ตะเภา ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)มากขึ้น

thumbnail IMG 0221
สมจิณณ์ พิลึก

 

โดยพบว่ายอดขายและเช่าที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.-ธ.ค.61) รวมกว่า 700 ไร่ เป็นพื้นที่ขายและเช่าในพื้นที่อีอีซีกว่า 664 ไร่ นอกพื้นที่อีอีซี 56 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 5,561 ล้านบาท เป็นมูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 2,839 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนพื้นที่นอกอีอีซี 2,721  ล้านบาท

การเติบโตของยอดขายที่ดินกนอ.ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการทำการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินสายโรดโชว์ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก เกี่ยวกับมาตรการการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ทั้งทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลส่งเสริมการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี

thumbnail มาบตาพุด 1

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ กนอ.ได้ตั้งเป้ายอดขายที่ดินไว้ที่ 3,500 ไร่ มั่นใจว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จากการที่นักลงทุนมีการติดต่อและสอบถามข้อมูลต่อเนื่อง และคาดว่านักลงทุนมีแผนการเข้ามาลงทุนเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับพื้นที่การลงทุนที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็น นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อีอีซี อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทริน์ ซีบอร์ด (ระยอง) นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และเหล็กโลหะภัณฑ์

ปัจจุบันกนอ.มีนิคมอุตสาหกรรม 54 แห่ง ใน 16 จังหวัด กนอ. ดำเนินการเอง 13 แห่ง และนิคมฯ ร่วมดำเนินงาน 41 แห่ง พื้นที่รวม 165,400 ไร่ พื้นที่เหลือสำหรับขาย/ให้เช่า 20,352 ไร่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight